พื้น Post Tension จะรับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบไว้นั้น ขั้นตอนการก่อสร้างมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และองค์ประกอบหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการก่อสร้างคือ ระบบนั่งร้านและเสาค้ำยันชั่วคราว ซึ่งหน้าที่หลักของนั่งร้านคือต้องรับน้ำหนักพื้นคอนกรีตขณะที่ยังไม่ได้ดึงลวดรวมกับน้ำหนักบรรทุกจรที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างได้
สำหรับน้ำหนักบรรทุกจรที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง ในการคำนวณสามารถอ้างอิงตามมาตรฐาน
ACI 347 และ
ASCE 37 ได้ โดยทั้งสองมาตรฐานได้ระบุไว้ดังนี้
ACI 347 ในข้อที่ 2.2.1 ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับน้ำหนักบรรทุกในแนวดิ่งว่า ใช้น้ำหนักบรรทุกจรไม่น้อยกว่า
50 psf (244 kg/m2) ถ้าใช้รถเข็นหรือรถลากที่มีเครื่องยนต์ให้ใช้น้ำหนักบรรทุกจรไม่น้อยกว่า
75 psf (366 kg/m2) ทั้งนี้น้ำหนักบรรทุกที่ใช้ออกแบบเมื่อรวม
DL+LL จะต้องไม่น้อยกว่า
100 psf (488 kg/m2) หรือถ้าใช้รถเข็นหรือรถลากที่มีเครื่องยนต์ให้ใช้น้ำหนักรวม
DL+LL จะต้องไม่น้อยกว่า
125 psf (610 kg/m2)
ASCE 37 ให้ตารางในการใช้น้ำหนักบรรทุกจรในการออกแบบ ดังนี้
เมื่อคำนวณน้ำหนักบรรทุกที่กระทำกับนั่งร้านได้แล้ว ทำให้เราสามารถเลือกวัสดุและระยะห่างของนั่งร้านที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ตามกฎหมายกำหนดอัตราส่วนความปลอดภัยของนั่งร้านเหล็กเท่ากับสอง และนั่งร้านไม้เท่ากับสี่ เมื่อเลือกนั่งร้านให้รับน้ำหนักจากการก่อสร้างแล้ว น้ำหนักทั้งหมดจะถ่ายผ่านนั่งร้านลงไปที่พื้นชั้นล่าง ซึ่งพื้นชั้นล่างจะต้องสามารถรับน้ำหนักที่ถ่ายลงมาได้
ยกตัวอย่างเช่น ในการเทพื้น
post tension ชั้นที่ 4 หนา
0.20m และมีน้ำหนักบรรทุกระหว่างการก่อสร้าง
(Construction Load) ในที่นี้กำหนดให้ประมาณ
250 kg/m2 น้ำหนักบรรทุกที่ระบบนั่งร้านต้องรับมีค่าเท่ากับ
2400x0.20 + 250 เท่ากับ
730 kg/m2 เมื่อเลือกระบบนั่งร้านและระยะห่างเพื่อรับน้ำหนักให้เพียงพอได้แล้ว ก็ต้องมาตรวจสอบพื้นชั้นที่ 3 ว่าถูกออกแบบไว้รับน้ำหนักได้เท่าไร สามารถรับน้ำหนัก
730 kg/m2 ที่ถ่ายลงมาได้หรือไม่ ถ้าพื้นชั้นที่ 3 หนา
0.20m รับ
SDL 300 kg/m2 และ
LL 300 kg/m2 หมายความว่า พื้นชั้นที่ 3 เมื่อดึงลวดแล้วคอนกรีตอายุครบ 28 วันจะรับน้ำหนักรวมได้
600 kg/m2 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวพื้นชั้นที่ 3 มีอายุคอนกรีตไม่ถึง 28 วัน จึงอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้เต็มตามที่ออกแบบไว้ ในที่นี้ตั้งสมมติฐานว่ารับน้ำหนักได้เพียง
75% (พิจารณาจากอายุของคอนกรีต) ของที่ออกแบบไว้คือ
0.75x600 = 450 kg/m2 จึงเหลือน้ำหนักส่วนเกินอยู่
280 kg/m2
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องถ่ายน้ำหนักส่วนเกินลงไปที่พื้นชั้นที่ 2 ด้วย ดูรูปด้านล่างประกอบ ถ้าพื้นชั้นที่ 2 รับน้ำหนักได้เท่ากับพื้นชั้นที่ 3 และอายุคอนกรีตมากกว่า 28 วันแล้ว จึงสามารถรับน้ำหนักได้เต็มที่คือ
600 kg/m2
ข้อพิจารณาพิเศษ
1. ในการทำพื้น Post tension ชั้น 1 ที่มี Lean concrete เป็นแบบ จะต้องระวังการทรุดตัวหรือกการไหลออกด้านข้างของดินใต้ Lean concrete ด้วย ดังนั้นจึงควรบดอัดให้แน่น
2. ในการเทพื้น post tension ชั้นสอง แล้วมีพื้นชั้นหนึ่งด้านล่างเพียงชั้นเดียว พื้นชั้นที่หนึ่งเพียงชั้นเดียวจะต้องสามารถรับน้ำหนักของพื้นชั้นสองตอนที่ยังไม่ได้ดึงลวดรวมกับน้ำหนักบรรทุกจรที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างได้
3. ในระบบพื้นที่มี span ยาวมากจนต้องใช้ Band beam ที่มีความลึก นั่งร้านและพื้นชั้นล่างจะต้องสามารถน้ำหนักของ Band beam นั้นได้อย่างเพียงพอ การค้ำยันกลับอาจจะต้องค้ำยันลงไปมากกว่า 1 ชั้น
เอกสารอ้างอิง
1. ACI 347-04; “Guide to Formwork for Concrete”
2. ASCE 37-02; “Design Loads on Structures During Construction”
3. อ.เสริมพันธ์ เอี่ยมจะบก; “การออกแบบนั่งร้าน”
ดาวน์โหลดบทความคลิก!!
Unknown
วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559